การสื่อสารราชนาวี ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในวันนี้ระบบสื่อสารราชนาวีประกอบไปด้วย ระบบวิทยุเชื่อมโยง การสื่อสารผ่านดาวเทียม ระบบ INMARSAT และไทยคม การสื่อสารระยะไกลด้วยคลื่นความถี่วิทยุความถี่ HF, UHF, และ VHF การสื่อสารด้วยระบบควบคุมบังคับบัญชา C3I การสื่อสารทางระบบชุมสายโทรศัพท์ของกองทัพเรือ และการสื่อสารผ่านระบบสารสนเทศ อย่างไรก็ดีระบบการสื่อสารต่าง ๆ เหล่านี้ ยังกระจัดกระจายและทำงานไม่สอดประสานกัน และยังไม่ตอบสนองความต้องการทั้งทางด้านยุทธการและธุรการอย่างครบถ้วน
หลักไมล์ที่สำคัญทางด้านการสื่อสารของ ทร. เริ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่งในปี ๒๕๔๖ เมื่อ พลเรือตรี ศักดิ์สิทธิ์ เชิดบุญเมือง เจ้ากรมสื่อสารทหารเรือ ในขณะนั้น ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดวิสัยทรรศน์ของกรมสื่อสารทหารเรือ (ชื่อในขณะนั้น) เพื่อให้มีการบริหารจัดการที่เป็นระบบ ใน ๑๐ ปีข้างหน้า ดังได้กล่าวมาข้างต้น ซึ่งทำให้การพัฒนาการสื่อสารของกองทัพเรือมีทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจน และในปี ๒๕๕๔ สสท.ทร.ได้กำหนดหลักการที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือการพัฒนาการสื่อสารของกองทัพเรือในลักษณะบูรณาการทั้งภายในกองทัพเรือและ ระหว่างหน่วยงานอื่นในกระทรวงกลาโหม เพื่อสนับสนุนแนวคิดการสงครามบูรณาการเครือขาย (Network Centric Warfare) ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญที่เมื่อโครงการนี้ประสบความสำเร็จ จะทำให้ขีดความสามารถในด้านการสื่อสาร สั่งการ และควบคุมบังคับบัญชาของกองทัพเรือเป็นไปอย่างสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยมีมา
แนวคิดการสงครามแบบบูรณาการเครือข่าย
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร โดยเฉพาะการสื่อสารแบบดิจิตอลและเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์ ทำให้ปัจจุบันสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้อย่างกว้างไกล รวดเร็ว และหลายหลากรูปแบบ ทำให้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการในการปฏิบัติการทางทหารสมัยใหม่ ที่มีความต้องการข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้น กรมการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศทหารเรือได้ขยายรวมถึงงานด้านระบบ สารสนเทศ และระบบควบคุมบังคับบัญชา เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีด้านการสื่อสารและสารสนเทศให้มีขีดความสามารถในการทำ สงครามสมัยใหม่ที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลางของกองทัพเรือได้
ในการปฏิบัติการทางทหารนั้นการสื่อสารมี บทบาทสำคัญ ไม่เพียงแต่ในด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่สำคัญ คือเป็น “เสียงแห่งการบังคับบัญชา” ในการสั่งการหรือการควบคุมการปฏิบัติทางทหารให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และจะต้องเป็นไปในลักษณะที่มีประสิทธิภาพและมีปริมาณเพียงพอสามารถสนองตอบ ความต้องการในการปฏิบัติการทางทหารได้ตามหลักสำคัญสามประการคือ เชื่อถือได้ (Reliability) รวดเร็ว (Speed) และปลอดภัย (Security)
ปัจจุบันงานของ สสท.ทร. ได้ขยายจากเครื่องมือสื่อสารทางทหารไปจนถึงระบบสารสนเทศ และการควบคุมบังคับบัญชา โดยที่ ระบบสารสนเทศ เป็นระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่รวบรวม จัดเก็บประมวลผล และแสดงผลข้อมูล เพื่อสร้างข้อมูลข่าวสารหรือสารสนเทศตามที่ต้องการ และส่งผลลัทธ์ที่ได้ให้ผู้ใช้เพื่อสนับสนุนการทำงาน เช่น การวางแผน การตัดสินใจ การควบคุมสั่งการ การติดตามผลงาน เป็นต้น ได้ในเวลาอันรวดเร็วและถูกต้อง ในขณะที่การควบคุมบังคับบัญชา (Command and Control : C2) นั้น เป็นการนำเครื่องมือสื่อสารและระบบสารสนเทศมาใช้ร่วมกันในการประมวลข้อมูล และการสั่งการต่างๆ รวมทั้งการดำเนินกรรมวิธี เพื่อช่วยเหลือการผลิตข่าวกรอง ให้มีความถูกต้องรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ผู้บังคับบัญชาสามารถวางแผน สั่งการ และควบคุมการปฏิบัติของหน่วยรองได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกทั้งยังเป็นองค์ ประกอบสำคัญในการประสานการปฏิบัติทางข้างอีกด้วย ขณะเดียวกันยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการรายงานผล การปฏิบัติของหน่วยรองให้กับหน่วยเหนือได้รับทราบสถานภาพและความเคลื่อนไหว ของสถานการณ์
ภาพรวมระบบสื่อสารและสารสนเทศกองทัพเรือในปัจจุบัน
การพัฒนาระบบสื่อสารและสารสนเทศของ ทร. ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ได้ดำเนินการไปตามแผนแม่บทที่เกี่ยวข้อง ๒ ฉบับคือ แผนแม่บทการพัฒนาระบบการสื่อสารของ ทร. แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศของ ทร. โดยที่ตามแผนแม่บทการพัฒนาระบบการสื่อสารของ ทร. (พ.ศ.๒๕๔๗-๒๕๕๖)นั้น ระบบการสื่อสารของ ทร. จะ ต้องครอบคลุมทุกพื้นที่ปฏิบัติการ เพื่อให้หน่วยต่างๆ สามารถทำการติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้ ทั้งทางเสียงและทางข้อมูล อย่างต่อเนื่องตลอดเวลาและเครือข่ายการสื่อสารของ ทร. ทุก เครือข่ายจะต้องสามารถทำงานร่วมกันได้เสมือนเป็นเครือข่ายเดียวกัน เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาสามารถติดต่อสื่อสารกับสถานีปลายทางได้ตลอดเวลา และทุกสถานที่ในขณะที่แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศ ทร. พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙ มีเป้าหมายหลักเพื่อให้มีระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บังคับ บัญชาในการควบคุมบังคับบัญชา และมีระบบสารสนเทศสนับสนุนการปฏิบัติงานที่เป็นสายงานหลักครอบคลุมทุกสายงาน ผลที่ได้ในปัจจุบัน ทำให้เกิด “Digital Navy” กล่าวคือ มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารโดยเฉพาะการสื่อสารระดับยุทธการ และการสื่อสารสำหรับงานธุรการ เป็นระบบสื่อสารแบบดิจิตอล ที่รองรับโปรโตคอลแบบ TCP/IP หรือการสื่อสารแบบอินเตอร์เน็ตนั่นเอง“Digital Navy” เป็นพื้นฐานสำคัญในการเสริมสร้างขีดความสามารถสำหรับสงครามที่ใช้เครือข่าย เป็นศูนย์กลาง
อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ เครือข่ายการสื่อสารที่ไม่มีความคุ้มค่าในการสร้างและไม่มีชั้นความความลับ ได้ดำเนินการเช่าบริการจากภาคเอกชน เช่น เครือข่ายแบบ Leased Line และระบบอินเตอร์ความเร็วสูงแบบ DSL (Digital Subscriber Line) เป็นต้น อย่างไรก็ตามระบบสื่อสารในระดับยุทธวิธี ระบบสื่อสารอนาล็อกที่ใช้งานร่วมกับหน่วยภายนอก ทร. และ สามารถใช้งานได้อย่างดี เช่น การสื่อสารทางเสียงและข้อความ ก็ยังคงมีใช้อยู่ และจะถูกทดแทนด้วยระบบสื่อสารแบบดิจิตอลตามความเหมาะสมต่อไป
รูปที่ ๑ แสดงภาพรวมของเครือข่ายการสื่อสารและรูปแบบของข้อมูลสารสนเทศ ทร. ปัจจุบัน โดยที่ภาพด้านซ้ายแสดงเครือข่ายการสื่อสารซึ่งแบ่งออกเป็นเครือข่ายการสื่อ สารสำหรับการปฏิบัติการทางทหาร และเครือข่ายการสื่อสารสำหรับงานธุรการหรือการบริหาร ในขณะที่ภาพด้านขวาแสดงประเภทของข้อมูลข่าวสารหรือระบบสารสนเทศที่นำมาใช้ใน การแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งภายในและภายนอก ทร. ร่วมทั้งระหว่างประเทศด้วย ทั้งนี้ได้แสดงให้ทราบถึงระดับของการใช้งานทั้งระดับยุทธการ และระดับยุทธวิธี